Coupling คืออะไร ? ควรเลือกใช้งานอย่างไรดี เรามีคำตอบให้คุณ
Coupling คืออะไร คัปปลิ้ง หรือเรียกอีกอย่างว่า ยอย เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยทำให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีสะดุดระหว่างการทำงาน ซึ่งอุปกรณ์ชนิดนี้ ทำหน้าที่เชื่อมต่อระบบส่งกำลังระหว่างตัวขับ เช่น มอเตอร์ และตัวถูกขับ เช่น เพลา สกรู เป็นต้น โดยคัปปลิ้งจะทำหน้าที่ส่งกำลังจากแรงบิดต้นทางสู่เครื่องจักร แรงบิดของตัวตามจะเท่ากับแรงบิดที่มาจากตัวขับ
คัปปลิ้งจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่
1. คัปปลิ้งแบบมียาง (Flexible Shaft Coupling)
ผลิตจากยางสังเคราะห์หรือยางธรรมชาติ มีลักษณะเด่นคือ สามารถช่วยลดแรงสั่นสะเทือนได้ดี น้ำหนักเบากว่า และยังสามารถป้องกันเครื่องจักรจากแรงบิดที่เกินกำลังได้โดยจะลด
แรงดันที่เกิดขึ้นจากการเยื้องแกนของเพลา คัปปลิ้งแบบมียางสามารถจำแนกออกมาได้หลายชนิด ตามการใช้งาน
2. คัปปลิ้งแบบไม่มียาง (Rigid Shaft Coupling)
ทำมาจากโลหะ ซึ่งมีทั้งแบบเหล็กสเตนเลสหรืออะลูมิเนียม มีลักษณะต่างจากคัปปลิ้งแบบยางอย่างสิ้นเชิง เพราะว่าไม่มีความยืดหยุ่นสูง แต่มีลักษณะที่ติดแน่นในการเชื่อมต่อเพลาจะต้องวัดให้ได้ความยาวตามที่ต้องการ คัปปลิ้งประเภทนี้จะไม่สามารถให้ตัวได้มาก จึงมีความยากในการประกอบติดตั้งมากกว่าคัปปลิ้งชนิดยาง อย่างไรก็ตามคัปปลิ้งประเภทนี้จะสามารถส่งถ่ายแรงได้ดีกว่าแบบยางอย่างมาก เหมาะสำหรับเครื่องจักรที่ต้องใช้แรงบิดสูง
วิธีการเลือกใช้งาน Coupling ให้เหมาะสมกับงาน
1. ขนาดของคัปปลิ้ง มีผลต่อแรงทอร์คและความเร็วที่ส่งออกไป ควรเลือกขนาดที่เหมาะสมกับแรงม้าของมอเตอร์
2. ตำแหน่งแนวแกนเพลาที่ตรงกัน ถึงแม้ว่าคัปปลิ้งบางตัวสามารถรับการเยื่องมุมของเพลาได้ แต่เพื่อให้เกิดการทำงานที่ให้ประสิทธิภาพ
และอายุการทำงานสูงสุด ควรวางแนวแกนให้ตรงกัน
3. การดูแลรักษา ควรมีการเช็คสภาพว่าถึงรอบที่จะเติมจาระบีให้คัปปลิ้งหรือเปล่า เพื่อลดความเสียหายที่มีต่อคัปปลิ้ง
วิธีการดูแลรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานของคัปปลิ้ง
การดูแลคัปปลิ้งนั้น ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด และยังสามารถส่งผลดี ทำให้ยืดอายุการใช้งานได้อย่างยาวนานมากยิ่งขึ้น เราจึงแนะนำวิธีที่จะช่วยดูแลรักษาคัปปลิ้งดังนี้
1. ถอดคัปปลิ้งออกมาตรวจสอบ สำหรับการตรวจสอบคัปปลิ้งนั้น ผู้ใช้งานจะต้องถอดคัปปลิ้งออกมา เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ดีมากขึ้น โดยมีการตรวจสอบรอยร้าวต่างๆ และยังรวมถึงขจัดคราบ สารหล่อลื่นที่แข็งตัวแล้ว ออกจากตัวคัปปลิ้งเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น
2. ตรวจสอบว่ามีสารหล่อลื่นเพียงพอ การเติมสารหล่อลื่นจะต้องเติมเฉพาะคัปปลิ้งประเภทที่ต้องอาศัยสารหล่อลื่น โดยได้แก่ Fluid Coupling, ยอยเกียร์, ยอยโซ่, และ Grid joint Coupling โดยผู้ใช้งานจะต้องตรวจสอบเสมอ ว่าสารหล่อลื่นที่ใช้นั้น เหมาะสำหรับการใช้งานกับเครื่องมืออุตสาหกรรม
3. ระมัดระวังเรื่องการปนเปื้อน การบำรุงรักษานี้จะเกี่ยวข้องกับขั้นตอนแรกที่จะต้องถอดคัปปลิ้งออกมาเพื่อทำความสะอาดและตรวจสอบ เพราะจะต้องดูให้ดีว่าน้ำยาที่ใช้ทำความสะอาดนั้น ถูกล้างออกจนหมด เพราะสารเคมีในน้ำยาทำความสะอาดบางชนิด อาจจะส่งผลต่อการลดประสิทธิภาพของสารหล่อลื่นนั่นเอง
4. เปลี่ยนคัปปลิ้งใหม่เมื่อจำเป็น เมื่อไรก็ตาม ที่สามารถตรวจสอบพบการสึกหรอของคัปปลิ้ง หลายคนอาจจะต้องการซ่อม แต่เมื่อเทียบกับเวลาที่ต้องเสียไปในช่วงการซ่อมบำรุงนั้น การเปลี่ยนใหม่ก็อาจจะคุ้มมากกว่า
สำหรับท่านใดที่ยังไม่แน่ใจ ว่าต้องการใช้งานคัปปลิ้ง แบบไหน จึงจะเหมาะสำหรับเครื่องจักรของตนเอง สามารถติดต่อเข้ามาที่เราได้ ทีมงานพร้อมให้คำปรึกษา